ร่มดี > ร่มสำหรับพระสงฆ์ > วันเข้าพรรษา
This post was updated on: January 2025
วันเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่ง ตรงกับ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งตรงกับช่วงฤดูฝน (วันเข้าพรรษาตรงกับวันอะไร)
โดยในช่วงระหว่างนี้ พระสงฆ์จะจำพรรษาอยู่ประจำในวัด หรือเสนาสนะแห่งหนึ่งที่สามารถกันแดดกันฝนได้โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่นตลอด 3 เดือนในช่วงฤดูฝน ร่มถวายพระ เหมาะมากสำหรับถวายพระสงฆ์ในช่วงเข้าพรรษานี้
ซึ่งเหตุผลที่พระสงฆ์ต้องทำเช่นนี้ก็เนื่องมาจากข้อกำหนดในพระธรรมวินัย อันมีที่มาดังจะกล่าวถึงให้ละเอียดในบทความนี้
[สารบัญ]
วันเข้าพรรษา คืออะไร
วันเข้าพรรษา เป็นวันที่พระภิกษุจะต้องจำพรรษาอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งในช่วงฤดูฝนโดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น
คำว่า “พรรษา” มีความหมายว่า “ฤดูฝน” เมื่อรวมกับคำว่า “จำพรรษา” ของพระภิกษุ จึงมีความหมายว่า การพักอยู่ในช่วงฤดูฝน
ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติสำคัญที่พระสงฆ์ทุกรูปจะต้องปฏิบัติตาม ไม่เช่นนั้นจะถือว่าผิดพระธรรมวินัย
วันเข้าพรรษา ภาษาอังกฤษ คือ the Buddhist Lent Day
ประวัติ วันเข้าพรรษา
ประวัติ วันเข้าพรรษา ประวัติความเป็นมา แบบย่อ – ในสมัยพุทธกาลนั้น พระภิกษุสงฆ์จำต้องเดินทางจาริกไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนให้เข้าถึงแก่ชนหมู่มาก
แต่เมื่อถึงช่วงฤดูฝน การเดินทางก็จะเต็มไปด้วยความยากลำบาก อีกทั้งยังเป็นช่วงที่ชาวบ้านปลูกข้าวและธัญพืชต่างๆ ที่กำลังอยู่ในช่วงงอกงาม ซึ่งพระสงฆ์อาจเดินผ่านเข้าไปเหยียบย่ำต้นกล้าต่างๆ ทั้งหลายจนเกิดความเสียหาย จนถึงอาจเหยียบย่ำสัตว์ต่างๆ ที่ออกหากินจนตาย รวมถึงยังอาจมีสัตว์ร้ายและอันตรายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน
นอกจากนี้ ในสมัยพุทธกาลที่พระสงฆ์ออกจาริกเผยแผ่พุทธศาสนา ศาสนาพุทธ โดยไม่หยุดแม้ในฤดูใดๆ จึงทำให้ชาวบ้านพากันติเตียนว่า พระภิกษุในพุทธศาสนาไม่ยอมหยุดพักสัญจรแม้ในฤดูฝนที่นักบวชศาสนาอื่นๆ ต่างพากันหยุดพัก
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้บัญญัติให้พระภิกษุในพุทธศาสนา จำพรรษาอยู่ในที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลา 3 เดือน หากพระภิกษุรูปใดไม่เข้าจำพรรษาอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งจะต้องถูกปรับอาบัติ
ประเภทของการเข้าพรรษา
การจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ตามพระธรรมวินัย ดังต่อไปนี้
1. ปุริมพรรษา
มีความหมายว่า วันเข้าพรรษาต้น เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11
2. ปัจฉิมพรรษา
มีความหมายว่า การเข้าพรรษาหลัง เป็นการจำพรรษาในกรณีที่พระภิกษุมีเหตุจำเป็น ที่ทำให้ไม่สามารถมาจำพรรษาทันเวลาในช่วงเริ่มต้นของพรรษาต้นได้
ดังนั้น จึงต้องรอเข้าพรรษาหลัง ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 9 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดระยะเวลาทอดกฐินพอดี
ดังนั้น พระภิกษุที่จำพรรษาหลัง จึงไม่มีโอกาสรับกฐินเช่นเดียวกับพระภิกษุที่เข้าปุริมพรรษา
สถานที่ที่พระภิกษุสามารถจำพรรษาได้
พระพุทธเจ้ากำหนดให้พระภิกษุจำพรรษาอยู่ในวัดตลอด 3 เดือนในช่วงฤดูฝน
แต่หากมีเหตุจำเป็น พระพุทธเจ้าก็อนุญาตให้พระภิกษุจำพรรษาอยู่ในสถานที่นอกเหนือจากวัดได้ ดังต่อไปนี้
- ในเรือ
- ในหมู่เกวียน
- ในคอกสัตว์โดยอยู่ในที่ของนายโคบาล และเมื่อคอกสัตว์ย้ายไป ทรงอนุญาตให้ย้ายตามไปได้
ส่วนสถานที่ห้ามจำพรรษา ประกอบไปด้วย
- ในโพรงไม้ หรือบนคาคบไม้
- กลางแจ้ง
- ในตุ่ม
- ในกลด
- ในโลงผี
- สถานที่ที่ไม่มีเสนาสนะ
ข้อปฏิบัติในการเข้าจำพรรษาของพระภิกษุ
ก่อนเข้าจำพรรษา พระภิกษุจะต้องเตรียมซ่อมแซมเสนาสนะ และปัดกวาดเช็ดถูให้เรียบร้อยก่อนถึงวันเข้าพรรษา
เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พระภิกษุจะประกอบพิธีอธิษฐานจำพรรษาภายหลังจากสวดมนต์ทำวัตรเย็น
โดยภายหลังจากทำวัตรเย็น เจ้าอาวาสจะประกาศเรื่องวัสสูปนายิกา คือ การกำหนดบอกให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งปวงรู้ถึงข้อกำหนดในการเข้าพรรษา
โดยมีสาระสำคัญ คือ แจ้งจำนวนพระภิกษุที่จำพรรษาให้แก่พระสงฆ์ทั้งปวงทราบ กล่าวรายละเอียดความเป็นมาและเนื้อหาของ วัสสูปนายิกาตามพระวินัยปิฏก กำหนดอาณาเขตของวัดที่พระภิกษุจะต้องรักษาพรรษาให้ชัดเจน
และมีการสมมุติเสนาสนคาหาปกะเพื่อให้เป็นผู้กำหนดให้พระสงฆ์รูปใดจำพรรษา ณ สถานที่ใดในวัด
จากนั้นพระสงฆ์จึงทำการขอขมาซึ่งกันและกัน แล้วทำการประกอบพิธีอธิษฐานพรรษาโดยตั้งใจว่าตลอดฤดูกาลพรรษานี้ตนเองจะไม่ไปไหนด้วยการเปล่งวาจาว่า
“อิมสฺมึ อาวาเส อิมัง เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ” แปลว่า ข้าพเจ้าจะอยู่จำพรรษาในอาวาสนี้ตลอด ๓ เดือน
ซึ่งพิธีกรรมอธิษฐานพรรษาถือได้ว่าเป็นพิธีที่มีความสำคัญมากที่สุด หลังจากพิธีดังกล่าวแต่ละวัดก็จะมีพิธีต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป
ประโยชน์ของการเข้าพรรษา
1. ช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงที่พระภิกษุอยู่จำพรรษาอยู่ ณ วัดใดวัดหนึ่งเป็นหลักแหล่ง จึงเป็นช่วงเวลาที่จะได้ใช้เวลาในการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และมีเวลาฝึกปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ซึ่งในปัจจุบันนี้ พระสงฆ์ทุกรูปในประเทศไทย จะต้องทำการศึกษาพระธรรมวินัยเพิ่มเติมในช่วงเข้าพรรษา โดยมีการจัดเป็นหลักสูตรนักธรรม โดยจะมีการสอบไล่ความรู้พระปริยัติธรรมในช่วงออกพรรษา เรียกว่า การสอบธรรมสนามหลวง
2. ช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงที่พระภิกษุจะได้ใช้เวลาในการอบรมสั่งสอนกุลบุตร และอบรมพระธรรมวินัยให้แก่พระภิกษุสามเณรที่อ่อนกว่าเพื่อเตรียมความพร้อมในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป
3. ในช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่ฝนตกเป็นประจำทุกวัน ถนนหนทางเต็มไปด้วยดินโคลนเดินทางลำบาก อีกทั้งพระภิกษุได้ใช้เวลาในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูฝนเดินทางจาริกเพื่อเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า โดยไม่ได้หยุดหย่อน
ดังนั้น ช่วงเข้าพรรษาจึงเป็นช่วงเวลาที่พระภิกษุจะได้หยุดพักผ่อน
4. ชาวบ้านได้มีเวลาไปทำบุญที่วัด พร้อมทั้งรับฟังคำสั่งสอน เรียนธรรมะจากพระภิกษุในช่วงเวลา 3 เดือนที่ได้จำพรรษาอยู่นี้
ข้อยกเว้นการจำพรรษาของพระสงฆ์
แม้ในพระธรรมวินัยจะมีการกำหนดให้พระภิกษุทุกรูปต้องเข้าจำพรรษา
แต่ก็มีข้อยกเว้นบางประการสำหรับพระภิกษุที่มีความจำเป็น ดังต่อไปนี้
1. พระภิกษุที่ต้องไปรักษาพยาบาล อุปัฏฐากบิดามารดาที่เจ็บป่วยหรือภิกษุที่อาพาธ
2. พระภิกษุที่มีความจำเป็นต้องไปทำกิจธุระของสงฆ์ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น การไปทำสังฆกรรม หรือหาอุปกรณ์มาซ่อมแซมกุฏิที่ชำรุด
3. พระภิกษุที่จำเป็นต้องไประงับพระภิกษุสามเณรที่จะสึกไม่ให้สึก
4. มีความจำเป็นต้องไประงับเหตุวิวาทของสงฆ์
5. ได้รับนิมนต์จากฆราวาสที่ต้องการทำบุญ โดยจะต้องมานิมนต์พระภิกษุด้วยตนเอง มิเช่นนั้นพระสงฆ์จะไม่สามารถไปค้างอ้างแรมได้
6. เมื่อถูกโจรปล้น ถูกสัตว์ร้ายรบกวน น้ำท่วม หรือวิหารถูกไฟไหม้ ก็สามารถออกจากสถานที่แห่งนั้นได้
7. เมื่อเกิดเหตุขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรค ผู้อุปถัมภ์ ทำให้พระภิกษุได้รับความลำบาก ก็สามารถย้ายออกจากที่แห่งนั้นได้
หากพระภิกษุมีความจำเป็นในการต้องไปค้างแรมนอกวัดในช่วงเข้าพรรษา จะต้องไปกลับในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน ที่เรียกว่า “สัตตาหกรณียะ”
ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษาโดยมีเหตุจำเป็นเฉพาะกรณี ๆ ไป
อานิสงส์ของพระสงฆ์ที่จำพรรษาครบจะได้รับ
พระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาจนครบ 3 เดือน จะได้รับอานิสงส์โดยการยกเว้นพระวินัย 5 ข้อดังต่อไปนี้
1. สามารถออกจากวัดไปโดยไม่ต้องแจ้งพระสงฆ์รูปอื่นหรือเจ้าอาวาสได้
2. สามารถล้อมวงฉันได้
3. สามารถเที่ยวไปโดยไม่ต้องถือไตรจีวรครบสำรับ 3 ผืน
4. สามารถเก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
5. เมื่อมีผู้มาถวายจีวรเกินกว่าไตรครอง สามารถเก็บไว้ได้โดยไม่ต้องสละเข้ากองกลาง
ประเพณีสำคัญในวันเข้าพรรษา
เมื่อถึงช่วงเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนที่ดีจะมีการบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันเข้าพรรษา
โดยมีประเพณีที่สำคัญดังต่อไปนี้
1. ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน
ซึ่งมีที่มาจากในสมัยพุทธกาลที่นางวิสาขามหาอุบาสิกา ได้ทูลขอพระบรมพุทธานุญาตขอถวายผ้าอาบน้ำฝนให้พระภิกษุได้มีผ้าผลัดเปลี่ยนในการสรงน้ำระหว่างฤดูฝน ซึ่งในปัจจุบันพุทธศาสนิกชนจึงถือเป็นประเพณีในการถวายผ้าอาบน้ำฝนในช่วงเข้าพรรษา พร้อมทั้งเครื่องใช้ที่จำเป็นต่างๆ แด่พระภิกษุ
2. ประเพณีถวายเทียนพรรษา
โดยมีที่มาจากกุศโลบายในการถวายแสงสว่างให้พระภิกษุได้ใช้ทำกิจวัตรในช่วงฤดูฝน
เนื่องจากในสมัยก่อนไม่มีไฟฟ้าใช้ดังเช่นปัจจุบัน การทำวัตรสวดมนต์และการศึกษาพระปริยัติธรรมจำเป็นต้องใช้แสงสว่าง ดังนั้น จึงนิยมหล่อเทียนต้นใหญ่ๆ เพื่อให้สามารถใช้จุดได้ตลอดทั้งฤดูฝน
แต่ถึงทุกวันนี้มีไฟฟ้าใช้แล้ว พุทธศาสนิกชนก็ยังถือเอาประเพณีถวายเทียนพรรษาเป็นประเพณีที่สำคัญ โดยบางส่วนได้ซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้า อย่างเช่น หลอดไฟ ถวายแก่พระสงฆ์เพื่อให้ยังคงเป็นการถวายของใช้ที่ยังคงให้แสงสว่างเช่นเดิม
แต่ก็ยังคงมีประเพณีแห่เทียนที่แกะสลักอย่างสวยงามที่สืบทอดต่อมาอย่างงดงามอลังการ โดยทำเป็นหุ่นและเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งเป็นลักษณะของเทียนพรรษาขนาดใหญ่ที่ปรากฏในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ในช่วงเข้าพรรษา ประชาชนยังถือโอกาสในการเข้าวัด ทำบุญ ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณรที่จำพรรษาอยู่ในช่วงฤดูฝน พร้อมทั้งสนับสนุนการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมต่างๆ
วันเข้าพรรษา ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญที่พระภิกษุจะได้เริ่มจำพรรษาอยู่เป็นหลักแหล่งในช่วงฤดูฝน เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อใช้เวลาในช่วงนี้ศึกษาพระธรรมและอบรมกุลบุตร รวมถึงพระภิกษุสามเณรที่อ่อนพรรษากว่า เพื่อให้มีความรู้ในเรื่องพระธรรมและหลักธรรมต่างๆ
และเป็นโอกาสอันดีที่พุทธศาสนิกชนจะได้เข้าวัดทำบุญ และเรียนรู้คำสั่งสอนจากพระสงฆ์ อธิษฐานตั้งใจทำความดี หรืองดการทำชั่วอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น ตั้งใจว่าจะงดเหล้าตลอดช่วงเข้าพรรษา เป็นต้น
ร่มสำหรับพระ ร่มพระสงฆ์ ด้ามไม้เท้า ราคาส่ง
ความพึงพอใจของลูกค้า คือเป้าหมายสูงสุดของร่มดี
สั่งซื้อ/สั่งผลิตร่มพระ กับร่มดี
ขั้นตอนที่ 1
เลือกแบบร่มของคุณ
เลือกแบบร่มที่คุณลูกค้าต้องการ เช่น ร่มพระสงฆ์สำเร็จรูป, ร่มพระสงฆ์พร้อมสกรีนโลโก้/ข้อความ เป็นต้น
ระบุจำนวนร่มที่ต้องการ
แจ้งจำนวนร่มที่คุณลูกค้าต้องการสั่งซื้อ/ผลิต (ขั้นต่ำในการผลิต … คัน)
ติดต่อร่มดี
บริษัท วี โกลบอล เทรดดิ้ง จำกัด
460/1 หมู่ที่ 3 ซอยสุขสวัสดิ์ 14/1 ถนนสุขสวัสดิ์ แขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพฯ 10150
แฟกซ์: 02-4771859